รัสเซียกับการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ
เมื่อกล่าวถึง “ประเทศมหาอำนาจทุนนิยม” เราจะนึกถึง “กลุ่มประเทศ G8” ขึ้นมาเป็นลำดับแรก กลุ่มประเทศ G8 หรือ Group of Eight ประกอบด้วยสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา แม้ว่ากลุ่ม G8 จะเป็นการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ โดยมิได้มีการจัดตั้งองค์กรถาวร หรือมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ ระหว่างกัน แต่เรามิสามารถปฏิเสธได้ว่า กลุ่ม G8 เป็นกลุ่มประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 49 ของการค้าทั้งโลก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 51 ของผลผลิตรวมทั้งโลก และมูลค่าทรัพย์สินร้อยละ 49 ของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)
ภายหลังการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น รัสเซียเข้าร่วมในการประชุมของกลุ่ม G7 เดิม โดยเข้าประชุมร่วมกับกลุ่มประเทศ G7 ครั้งแรกในปี 2537 ต่อมาจึงเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม G8 ในปี 2541 ตามข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯ ยุคประธานาธิบดี Bill Clinton เพื่อเป็นการให้รางวัลรัสเซียที่อดีตประธานาธิบดี Boris Yeltsin ปฏิรูประบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยและปฏิรูประบบเศรษฐกิจไปสู่ระบบตลาดเสรี รวมทั้งวางตัวเป็นกลางต่อการขยายสู่ตะวันออกขององค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) หรือ NATO
อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกลุ่ม G8 ของรัสเซีย เนื่องจากสาเหตุอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก รัสเซียเพิ่งเริ่มต้นปฏิรูประบบการเมือง จึงมิได้เป็นประชาธิปไตยเต็มตัวดังเช่นสมาชิกชาติอื่นๆ ประการที่สอง รัสเซียมิได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยทัดเทียมประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียเมื่อวัดจาก GDP อยู่เพียงลำดับที่ 14 เท่านั้น นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 วุฒิสมาชิก Joe Lieberman และ John McCain ของสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียออกจากกลุ่มประเทศ G8 ทั้งนี้เนื่องจากรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี Vladimir Putin มิได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและมิได้ให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ
ในเดือนกรกฎาคม 2549 รัสเซียได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ G8 เป็นครั้งแรก การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ระหว่างวันที่ 15 – 17 กรกฎาคม 2549 แม้ว่าประเด็นหลักที่ประธานาธิบดี Vladimir Putin เสนอในที่ประชุมจะได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน โรคติดต่อ และการศึกษา แต่สิ่งที่ประเทศมหาอำนาจและประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจมากกว่าคือ บทบาทและการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัสเซีย ที่นับวันจะยิ่งขยายอิทธิพลออกนอกประเทศและมีบทบาทขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
1. เสาหลักที่รัสเซียใช้เป็นปัจจัยค้ำยันอำนาจต่อรอง
ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศนั้น เสาหลักของรัฐทุนนิยมที่ใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐอื่นๆ อาจแบ่งได้เป็น 6 เสาหลัก ได้แก่ การค้าและการผลิต การเงิน ความรู้และเทคโนโลยี วัฒนธรรม การสื่อสาร และกองทัพ ความเข้มแข็งของเสาหลักทั้ง 6 เสานี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอำนาจในการต่อรอง
แม้ว่าเสาหลักต่างๆ ที่รัสเซียใช้ จะมิได้ใช้เพื่อต่อรองโดยตรงกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ ทั้งหมด แต่เสาหลักเหล่านี้ล้วนทำให้รัสเซียสามารถใช้เป็นปัจจัยค้ำยันอำนาจต่อรองของตนกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยอ้อมนั่นเอง เสาหลักที่รัสเซียใช้มีอย่างน้อย 5 เสาหลัก ดังนี้
1.1 การผลิตและการค้า
เศรษฐกิจของรัสเซียเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปีนับจากปี 2542 จนทำให้รัสเซียมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจรวมถึงร้อยละ 65 เมื่อปีที่ผ่านมา แม้ว่าธุรกิจต่างๆ ของรัสเซียจะเติบโตขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ การค้าปลีก การกลั่นสุรา อาหารแปรรูป และสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค แต่ปัจจัยหลักเกิดจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัสเซียได้เงินจำนวนมหาศาลจากการเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
นอกจากเงินมหาศาลที่ได้จากการผลิตและค้าน้ำมันแล้ว ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กัน การผลิตน้ำมันของรัสเซียเคยลดลงเป็นอย่างมากนับจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มผลิตมากขึ้นอีกครั้งจนเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุดิอาระเบียเมื่อปีที่แล้ว เมื่อผนวกเข้ากับแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ได้รับการยืนยันแล้วมีมากกว่าอิหร่านที่ตามมาเป็นลำดับ 2 ถึงเท่าตัว ทำให้รัสเซียเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านพลังงานมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ทั้งกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ต่างก็ต้องพึ่งพารัสเซียในด้านพลังงานทั้งสิ้น
ความหวั่นเกรงของสหรัฐฯ ที่มีต่อรัสเซียในด้านพลังงานนั้น เห็นได้อย่างชัดเจนจากคำกล่าวของนาย Dick Cheney ที่ต้องการให้รัสเซียหยุดการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเครื่องมือบีบบังคับและสร้างอำนาจต่อรองเหนือประเทศคู่ค้า
ในด้านการค้านั้น แม้ว่ารัสเซียจะยังมิได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก แต่การค้าของรัสเซียก็ขยายตัวในอัตราสูง โดยเฉพาะการค้ากับจีนซึ่งเป็นหอกข้างแคร่ของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 การค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีที่แล้วมูลค่าการค้าระหว่างรัสเซียกับจีนมีมูลค่าสูงถึง 29.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเป็นการเพิ่มอำนาจเชิงสัมพัทธ์ให้แก่รัสเซียในการเจรจาต่อรองกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ
1.2 การเงิน
รัฐบาลรัสเซียมีงบประมาณเกินดุลติดต่อกันมาแล้ว 6 ปี ทำให้สามารถตกลงจ่ายหนี้เร่งรัดการต่างประเทศก่อนกำหนดได้เป็นมูลค่ามหาศาล แม้ว่าการใช้หนี้ดังกล่าวอาจมิได้เพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่รัสเซียโดยตรง แต่ถ้าคิดในมุมกลับจะพบว่า การที่รัสเซียสามารถใช้หนี้ได้ เท่ากับเป็นการลดปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของประเทศเจ้าหนี้ลงได้
1.3 ความรู้และเทคโนโลยี
ความรู้และเทคโนโลยีของรัสเซียที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามเย็นประการหนึ่ง คือ ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังคงต้องพึ่งพาแร่ยูเรเนียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญจากรัสเซียเป็นหลัก โดยนำเข้ายูเรเนียมเข้มข้นและยูเรเนียมปรับสภาพจากรัสเซียร้อยละ 55 และ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด ความได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบของรัสเซียเอื้ออำนวยให้มีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี และสร้างอำนาจต่อรองในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์เป็นอย่างมาก
ในการประชุมผู้นำ G8 ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียบรรลุข้อตกลงในการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ ตามแผนงานดังกล่าว ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นที่ 4 ตั้งศูนย์เพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียม และธนาคารเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (International Atomic Energy Agency: IAEA) ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศทำให้ควบคุมเทคโนโลยี ตลอดจนอาวุธนิวเคลียร์มิให้ถึงมือกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ในทางหนึ่งรัสเซียสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่ในอีกทางหนึ่ง รัสเซียยื่นข้อเสนอให้อิหร่านสามารถพัฒนาการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ในรัสเซียได้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาของประเทศอื่นๆ ที่มองว่า อิหร่านกำลังลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ พึงพอใจกับท่าทีของรัสเซียในการยื่นความช่วยเหลือดังกล่าว แต่ก็ย่อมทำให้รัสเซียมีอำนาจต่อรองมากขึ้นตามไปด้วย
1.4 กองทัพ
เสาหลักด้านกองทัพมิได้เป็นประเด็นที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดดังเช่นในยุคสงครามเย็น แต่ใช่ว่าอำนาจทางการทหารของรัสเซียจะหมดไป นอกเหนือจากศักยภาพในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์แล้ว รัสเซียยังคงมีการซ้อมรบร่วมกับจีนที่มิได้ยอมอ่อนข้อต่อสหรัฐฯ ซึ่งหากเราเชื่อว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” การซ้อมรบร่วมกันระหว่างรัสเซียและจีน ย่อมสร้างความกังวลต่อสหรัฐฯ โดยมิต้องสงสัย
การพัฒนาการผลิตอาวุธและอำนาจทางกองทัพของรัสเซียยังเกิดขึ้นโดยอ้อม ผ่านการขายอาวุธให้ประเทศต่างๆ รวมถึงลูกค้ารายใหญ่เช่นจีน ซึ่งยังคงต้องการเทคโนโลยีอาวุธที่ทันสมัยที่สุดจากรัสเซีย นอกจากนี้ รัสเซียยังตกลงขายอาวุธให้ซีเรีย และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขายอาวุธให้แก่กลุ่มฮามาส เมื่อรัฐบาลรัสเซียเชิญผู้นำกลุ่มฮามาสที่สหรัฐฯ ขึ้นชื่อไว้ในบัญชีดำมาเยือนรัสเซียภายหลังจากการชนะการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ เสาหลักทางกองทัพที่เข้มแข็ง หยั่งรากลึก และแผ่อิทธิพลไปรอบด้านย่อมเป็นสิ่งที่ประเทศมหาอำนาจทุกประเทศจำเป็นต้องจับตามองด้วยความระมัดระวัง
1.5 การสื่อสาร
ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่เป็นหนามยอกอกของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯ ผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันในภูมิภาคนี้เป็นที่ต้องการของหลายๆ ประเทศ แต่ประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐฯ มิอาจสร้างความเชื่อใจแก่ประเทศตะวันออกกลางได้มากนัก รัสเซียใช้เสาหลักทางด้านการสื่อสารโดยสถานีโทรทัศน์ RIA Novosti ซึ่งเป็นกิจการของรัฐบาลรัสเซีย วางแผนการลงทุนสร้างช่องข่าวภาคภาษาอาหรับ การใช้เสาหลักทางด้านการสื่อสารดังกล่าวสามารถทำให้รัสเซียสามารถขยายอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง และถ่วงดุลการแผ่อำนาจเหนือภูมิภาคดังกล่าวของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ผ่านการสื่อสารอย่างได้ผล
2. พลังอำนาจในการต่อรอง
พลังอำนาจในการต่อรองในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ อำนาจเชิงสัมพัทธ์ (Relational Power) และอำนาจเชิงโครงสร้าง (Structural Power)
อำนาจเชิงสัมพัทธ์ เป็นอำนาจหรือความได้เปรียบที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งสามารถใช้ในการเจรจาต่อรองเพื่อบีบบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ต้องการ ขณะที่อำนาจเชิงโครงสร้าง เป็นอำนาจที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดโครงสร้างทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐหรือระดับโลก
พลังอำนาจในการต่อรองกับประเทศต่างๆ ของรัสเซียนั้นเข้าข่ายของอำนาจเชิงสัมพัทธ์มากกว่าอำนาจเชิงโครงสร้าง ทั้งนี้เนื่องจากรัสเซียใช้พลังอำนาจของตนในการต่อรอง กดดัน และบีบบังคับประเทศอื่นๆ มากกว่าจะใช้ในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประเทศนั้นๆ อำนาจเชิงสัมพัทธ์ดังกล่าวเกิดจากเสาหลักต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะเสาหลักด้านการผลิตและการค้า รัสเซียสามารถเปลี่ยนทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศให้กลายเป็นพลังอำนาจต่อรองอันทรงประสิทธิภาพ
ตัวอย่างของการใช้พลังงานเป็นอำนาจเชิงสัมพัทธ์ของรัสเซียมีหลายตัวอย่าง เช่น การขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติที่ส่งออกไปยังอดีตประเทศบริวารอย่างยูเครนถึงร้อยละ 400 เพื่อเป็นการ “สั่งสอน” ยูเครนที่ “ตีตัวออกห่าง” รัสเซียโดยการเข้าเป็นสมาชิก NATO ซึ่งจะทำให้พรมแดนรัสเซียถูกล้อมกรอบโดยประเทศสมาชิก NATO หรือการเลือกที่จะวางท่อส่งน้ำมันหลักไปยังนาค็อดนาเพื่อขายให้แก่ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐฯ แทนที่จะวางท่อส่งน้ำมันยาว 4,100 กิโลเมตรจากไซบีเรียไปยังจีนตามที่จีนต้องการ
อำนาจเชิงสัมพัทธ์ของรัสเซียสร้างอำนาจต่อรองให้รัสเซียในการเจรจากับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ โดยอ้อม โดยเป็นแรงหนุนให้รัสเซีย “เสียงดัง” ขึ้นมาในกลุ่ม G8 ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ประเทศมหาอำนาจเอง ก็ถูกรัสเซียใช้อำนาจเชิงสัมพัทธ์ด้วย เช่น ประเทศมหาอำนาจในยุโรปยังคงต้องนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียเป็นหลัก
อำนาจเชิงสัมพัทธ์ของรัสเซียนี้ ทำให้ประเทศมหาอำนาจที่ไม่พอใจท่าทีบางประการของรัสเซีย ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มปากนัก เช่น นาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางอย่างของนาย Putin แต่ก็ไม่สามารถตำหนิอย่างรุนแรงได้ ทั้งนี้เนื่องจากทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซียกับเยอรมนีมีความเกี่ยวพันกันอยู่มาก ตั้งแต่การที่รัสเซียไม่ขัดขวางการรวมชาติของเยอรมนีในปี 2532 รวมถึงการพึ่งพาทรัพยากรเชื้อเพลิงและการลงทุนของธุรกิจเยอรมนีในรัสเซียในปัจจุบัน หากเกิดปัญหาขึ้นกับรัสเซีย ย่อมทำให้เยอรมนีต้องพลอยกระทบกระเทือนไปด้วย
3. ประโยชน์เชิงปฏิสัมพันธ์ที่รัสเซียได้รับ
รัสเซียต้องการอะไรจากการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ? อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลมอสโกน่าจะต้องการคานอำนาจของรัฐบาลวอชิงตัน โดยสร้างขั้วอำนาจขึ้นถ่วงดุลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดี Jacques Chirac ต้องการแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
รัสเซียถูกประเทศมหาอำนาจอื่นๆ โจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องการบริหารประเทศที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ของนาย Putin โดยการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้สภาผู้แทนราษฎร หรือ ดูมา เป็นแค่สภาตรายาง รวมถึงเรื่องเสรีภาพของทั้งสื่อและประชาชน ขณะที่ในทางเศรษฐกิจนั้น ประธานาธิบดีรัสเซียยึดกิจการสำคัญๆ ที่เคยแปรรูปเป็นของเอกชน กลับมาเป็นกิจการของรัฐ รวมถึงบริษัทค้าน้ำมันยูคอส โดยปัจจุบัน บริษัทในความควบคุมของรัฐบาลรัสเซียมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประเด็นอื่นๆ เช่น การคอร์รัปชั่น ที่รัสเซียมีความโปร่งใสในลำดับที่ 106 จาก 117 ประเทศ หรือการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินที่รัสเซียอยู่ในลำดับที่ 108 ย่อมสร้างความไม่พึงพอใจจากประเทศสมาชิกกลุ่ม G8
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การใช้อำนาจเชิงสัมพัทธ์ผ่านความเข้มแข็งของเสาหลักของรัสเซียนั้น ทำให้รัสเซียค่อยๆ กลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ดังเช่นที่เคยเป็นในสมัยสหภาพโซเวียตมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัสเซีย ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนเกาหลีเหนือ และบางประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อ “งัดข้อ” กับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า อาจก่อให้เกิดสงครามเย็นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้.