It's so kool Blog

the first thought of the rest of my life

Friday, March 10, 2006

Poverty Is Not the Problem, Wealth Is

-1-

เมื่อวานนี้ ผมเพิ่งเคลียร์เอกสารและหนังสือที่วางเกะกะโต๊ะทำงาน แล้วเจอมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1306 (26 ส.ค. – 1 ก.ย. 2548) อยู่ในกองหนังสือ ในมติชนเล่มดังกล่าวมีบทความสองชิ้นที่ผมอ่านแล้วพบว่า มีความสอดคล้องกันอย่างไม่บังเอิญ

ชิ้นแรกชื่อ “Gigayachts ของเล่นราคาแพง” โดยวีรกร ตรีเศศ (หน้า 20) มีเนื้อหาตอนหนึ่งดังนี้ “...ในขณะที่ผู้คนเกือบร้อยละ 50 ในโลกมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 เหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยสี่ไม่ครบ หรือมีอย่างจำกัดจำเขี่ย แต่มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในโลกที่หมดเงินไปกับสิ่งที่เกินความจำเป็นเอามากๆ ถ้าจะเถียงว่าเป็นเงินของเขาทำอะไรก็ได้ ก็ไม่ถูกอีก เพราะเงินเหล่านี้หมายถึงทรัพยากรของโลกปริมาณมากมายไม่ว่าจะเป็น เหล็ก โลหะมีค่า วัสดุ แรงงานคน ฯลฯ ซึ่งไปจมติดอยู่อย่างไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ และอย่าลืมว่าทุกคนเป็นเจ้าของโลกใบนี้ร่วมกัน แต่บังเอิญมันบิดเบี้ยวจึงไม่มีสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรของโลกเท่าเทียมกันเท่านั้น...”

ส่วนชิ้นที่ 2 อยู่ในคอลัมน์ “แลไปข้างหน้า” ของ ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ ในชื่อเรื่อง “วิศวกรรมเนื้อเยื่อ เพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์กินได้ โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์” (หน้า 79) ซึ่งมีเนื้อหาในตอนท้ายว่า “...ถ้าพูดถึงโลกทั้งใบกันแบบหารเฉลี่ยแล้ว อาหารไม่ได้ขาดแคลนหรอก ประเทศไทยเราเองก็เคยผ่านประสบการณ์เอาไก่ไปทิ้งทะเลกันมาแล้ว ต่อให้ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ เนื้อที่เพาะเลี้ยงได้ก็ไปไม่ถึงประเทศที่แล้งเข็ญอย่างไนจีเรีย มันคือความไม่สมดุลของโลกที่ชวนให้สับสนเล่นอยู่เหมือนกัน”

-2-

ผมนึกถึงบทความของ อ.จรัญ มะลูลีม ที่เขียนอ้างถึงทรรศนะของสาทิศ กุมาร (Satish Kumar) บรรณาธิการนิตยสาร Resurgence ไว้ว่า “...ความไม่เท่าเทียมกันก่อให้เกิดความรุนแรง ความไม่ลงรอยกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติก่อให้เกิดความรุนแรง เช่นเดียวกับการแบ่งแยกระหว่างความร่ำรวยและความยากจน คนจำนวนมากถือว่า คนจนจะต้องรับผิดชอบต่อสภาพความยากจนของพวกเขา ความยโสโอหังนี้เป็นสาเหตุของความรุนแรง คนจนยากจนเพราะคนร่ำรวยนำเอาทรัพยากรของพวกเขาไปใช้ ความยากจนมิได้มาจากความโง่เขลาของคนจน แต่มาจากความรุนแรงของคนรวย...”

ใครจะเถียงบ้างว่า การใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องไกลตัว?

-3-

ผมไม่แน่ใจนักว่า คุณทักษิณ (เจ้าของวาทะ “คนจนจะหมดไปภายใน 6 ปี”) คิดอะไรอยู่บ้าง เมื่อท่านกับคณะ “คาราวานแก้จน” มุ่งหน้าสู่ภาคอีสานพร้อมด้วย “อาจสามารถ โมเดล” ในอุ้งมือ ผมเข้าใจว่า บางทีท่านนายกอาจเชื่อว่า ปัญหาความยากจนสามารถแก้ได้ด้วยเงิน เมื่อไม่มีเงินก็จงเอาเงินไป ท่านแก้ปัญหาง่ายๆ เหมือนดื่มน้ำเมื่อกระหาย โดยไม่ใส่ใจว่า ประชาชนตาดำๆ จะหาน้ำแก้วต่อไปมาได้อย่างไร และเมื่อไร

หากวิธีการของท่านนายกที่อาจสามารถ มิได้เป็นเพียงการสร้างคะแนนเสียง โดบเนื้อแท้ของท่านจึงมิได้เป็นเพียงคน ‘ปากว่าตาขยิบ’ เพราะมือเท้าของท่านก็ขยิบตามไปด้วย ในขณะที่ท่านโฆษณาชวนเชื่อถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างมาโดยตลอด ท่านกลับหยิบยื่นความรุนแรงโดยการวักน้ำจากมหาสมุทรของท่าน (ท่านเชื่อว่าเป็นของท่าน?) ให้ประชาชนดื่มกิน โดยมิได้สนใจแม้แต่น้อยว่า น้ำทะเลจะยิ่งทำให้ผู้กระหายน้ำต้องการน้ำมากขึ้นไปอีกหรือไม่

-4-

ขณะที่ร้านก๋วยเตี๋ยวถูกสรรพากรนับจำนวนชามเพื่อเรียกเก็บภาษี คุณทักษิณกลับหาทางออกในการหลีกเลี่ยงภาษีจากการขายหุ้นชินได้อย่างแยบยล (ใครจะแย้งบ้างว่า ท่านนายกไม่มีส่วนรู้เห็น?) คุณทักษิณเคยได้รับเงินก้อนโตจากการได้รับสัมปทาน และได้รับเงินก้อนโตอีกก้อนหนึ่งจากการขายมันไป

ผมพยายามทำเป็นลืมๆ ภาพข่าวที่อาจสามารถไป แต่การขายหุ้นมูลค่า 73,000 ล้านบาท ทำให้ต้องกลับมาครุ่นคิดว่า ทำไมอำนาจในมือท่านต้องถูกใช้พร้อมกับความรุนแรงทุกครั้งไป ท่านสร้างฐานะจากเงินของประชาชน ท่านใช้เงินเพื่อสร้างอำนาจ ใช้อำนาจเพื่อสร้างความรุนแรง และเอาเปรียบประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก

-5-

ตอนนี้ ผมเริ่มจะเชื่อวาทะของสาทิศ กุมาร ที่ว่า “Poverty is not the problem, wealth is the problem.” มากขึ้นเรื่อยๆ