It's so kool Blog

the first thought of the rest of my life

Friday, June 08, 2007

หนีตาม....

คนอื่นๆ เค้าย้ายบ้านกันหมดแล้ว ด้วยเหตุนี้ผมก็ขออนุญาตหนีตามเขาเหล่านั้นไปด้วยคนครับ

บ้านใหม่อยู่ที่ lukasti.wordpress.com ครับ ขอเชิญแวะไปเยี่ยมชมได้

Friday, October 06, 2006

Re: Hello…Mr. Armed – Messiah

สืบเนื่องจาก บทความเรื่อง "Hello…Mr. Armed – Messiah"
ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับความคิดของคุณปราชญ์ เจ้าของบทความนะครับ แต่อยากจะขอคิดต่าง

ต้นกำเนิดของประชาธิปไตยอาจจะมาจากมุมใดมุมหนึ่งของโลก ผ่านการพัฒนา เปลี่ยนแปลงมาครั้งแล้วครั้งเล่า
เมื่อมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินประเทศไทย จึงต้องถามว่า สิ่งที่สยามประเทศรับมา เป็น "ชื่อ" ประชาธิปไตย หรือ "แนวคิด" เรื่องประชาธิปไตย? คนทั่วไป "รู้จัก" และ "เข้าใจ" ประชาธิปไตย มากน้อยเพียงไร?

นับตั้งแต่ปี 2475 ที่ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนระบอบการปกครอง บางสิ่งเปลี่ยนแปลง บางสิ่งยังคงอยู่
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ "อำนาจอธิปไตย" ที่กลายมาเป็นของปวงชน แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ "การใช้อำนาจอธิปไตย"
คนไทยไม่เคยชินกับการใช้ "อำนาจอธิปไตย" จึงคอยแต่จะยกอำนาจนั้นให้แก่ "ผู้ปกครอง" อยู่ร่ำไป


"ประชาธิปไตย" มิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หากแต่เกิดขึ้นมาเพราะคนเรา "เชื่อ" ว่าเราสามารถปกครองตนเองได้ ความเชื่อนี้กฎหมายบังคับให้เชื่อไม่ได้นะครับ หากคนจำนวนมากไม่ได้เชื่อเช่นนี้ ต่อให้รัฐธรรมนูญบัญญัติอย่างไรก็มิอาจเป็นประชาธิปไตยได้

แม้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะมีอยู่ว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน" แต่ด้วยความเขลาเบาปัญญาของผม จึงมิอาจทราบได้ว่า แล้วในความเป็นจริงที่มิได้อยู่ในกฎหมาย "บุคคล" แต่ละคน "เสมอกัน" หรือไม่? แต่จะขอสมมติไปพลางๆ ก่อนว่า ไม่เสมอกัน

ผมเดาว่า คนไทยจำนวนมากไม่รู้สึกว่า คนเราทุกคนล้วนแล้วแต่ "เสมอกัน" และ "เท่าเทียมกัน" เมื่อไม่เคยปกครองตนเอง ก็ไม่รู้จะปกครองตนเองอย่างไร ซ้ำร้ายกว่านั้น บางทีคนไทยอาจจะไม่เชื่อว่า เราปกครองตนเองได้ ดังนั้น คนไทยอาจจะรู้จักประชาธิปไตยดีก็ได้ แต่เมื่อไม่เชื่อว่า คนเราปกครองตนเองได้ และ "ต้อง" ปกครองตัวเอง คนไทยจึงพอใจที่จะให้คนอื่นเอาอำนาจของตนเองไปใช้มากกว่า ตราบใดที่ยังมีข้าวกิน ไข่ยังราคาเท่าเดิม ใครจะกุมอำนาจในรัฐบาลก็ช่างหัวมัน เพราะนี่คือ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" คนไทยทำอะไรง่ายๆ สบายๆ อยู่แล้ว

ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่า "การรอคอยเมสไซอาห์ทางการเมืองการปกครอง" ที่คุณปราชญ์พูดถึงนั้น มิได้เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่คงอยู่มายาวนานจนกลายเป็นความเคยชินของคนไทยไป คนไทยรอ "เมสไซอาห์" มานานแล้ว และจะยังคงรอต่อไป

คนไทยไม่ได้งอมืองอเท้านะครับ แต่คนไทยเป็น "คนช่างฝัน" ต่างหาก

ที่คุณปราชญ์สรุปว่า "ผมเชื่อว่าเมสไซอาห์ที่ดีที่สุดน่าจะเป็นตัวตนของเราแต่ละคนเอง กระบวนการตรวจสอบทางการเมืองที่เข้มแข็งที่สุดไม่ใช่ศาลหรือองค์กรใดใด หากแต่เป็นตัวประชาชนที่มีความรู้และความเข้าใจในสิทธิ์ที่ตนมี สามารถบริหารใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องล้าสมัยที่ทำให้ดูราวกับว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในบ้านป่าเมืองเถื่อนนี้ก็คงไม่เกิดขึ้นมาอีก" ผมขอยกสองมือเห็นด้วย แต่คำถามสำคัญก็คือ แล้วต้องทำอย่างไร คนไทยจึงจะเชื่อว่า เราสามารถปกครองตนเองได้ หรือ "เมสไซอาห์ที่ดีที่สุดน่าจะเป็นตัวตนของเราแต่ละคนเอง"

หรือว่าต้องรอ "เมสไซอาห์" จุติลงมาบอกอีก...


Thursday, July 27, 2006

รัสเซียกับการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ

เมื่อกล่าวถึง “ประเทศมหาอำนาจทุนนิยม” เราจะนึกถึง “กลุ่มประเทศ G8” ขึ้นมาเป็นลำดับแรก กลุ่มประเทศ G8 หรือ Group of Eight ประกอบด้วยสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา แม้ว่ากลุ่ม G8 จะเป็นการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ โดยมิได้มีการจัดตั้งองค์กรถาวร หรือมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ ระหว่างกัน แต่เรามิสามารถปฏิเสธได้ว่า กลุ่ม G8 เป็นกลุ่มประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 49 ของการค้าทั้งโลก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 51 ของผลผลิตรวมทั้งโลก และมูลค่าทรัพย์สินร้อยละ 49 ของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)

ภายหลังการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น รัสเซียเข้าร่วมในการประชุมของกลุ่ม G7 เดิม โดยเข้าประชุมร่วมกับกลุ่มประเทศ G7 ครั้งแรกในปี 2537 ต่อมาจึงเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม G8 ในปี 2541 ตามข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯ ยุคประธานาธิบดี Bill Clinton เพื่อเป็นการให้รางวัลรัสเซียที่อดีตประธานาธิบดี Boris Yeltsin ปฏิรูประบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยและปฏิรูประบบเศรษฐกิจไปสู่ระบบตลาดเสรี รวมทั้งวางตัวเป็นกลางต่อการขยายสู่ตะวันออกขององค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) หรือ NATO

อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกลุ่ม G8 ของรัสเซีย เนื่องจากสาเหตุอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก รัสเซียเพิ่งเริ่มต้นปฏิรูประบบการเมือง จึงมิได้เป็นประชาธิปไตยเต็มตัวดังเช่นสมาชิกชาติอื่นๆ ประการที่สอง รัสเซียมิได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยทัดเทียมประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียเมื่อวัดจาก GDP อยู่เพียงลำดับที่ 14 เท่านั้น นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 วุฒิสมาชิก Joe Lieberman และ John McCain ของสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียออกจากกลุ่มประเทศ G8 ทั้งนี้เนื่องจากรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี Vladimir Putin มิได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและมิได้ให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ

ในเดือนกรกฎาคม 2549 รัสเซียได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ G8 เป็นครั้งแรก การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ระหว่างวันที่ 15 – 17 กรกฎาคม 2549 แม้ว่าประเด็นหลักที่ประธานาธิบดี Vladimir Putin เสนอในที่ประชุมจะได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน โรคติดต่อ และการศึกษา แต่สิ่งที่ประเทศมหาอำนาจและประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจมากกว่าคือ บทบาทและการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัสเซีย ที่นับวันจะยิ่งขยายอิทธิพลออกนอกประเทศและมีบทบาทขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

1. เสาหลักที่รัสเซียใช้เป็นปัจจัยค้ำยันอำนาจต่อรอง
ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศนั้น เสาหลักของรัฐทุนนิยมที่ใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐอื่นๆ อาจแบ่งได้เป็น 6 เสาหลัก ได้แก่ การค้าและการผลิต การเงิน ความรู้และเทคโนโลยี วัฒนธรรม การสื่อสาร และกองทัพ ความเข้มแข็งของเสาหลักทั้ง 6 เสานี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอำนาจในการต่อรอง

แม้ว่าเสาหลักต่างๆ ที่รัสเซียใช้ จะมิได้ใช้เพื่อต่อรองโดยตรงกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ ทั้งหมด แต่เสาหลักเหล่านี้ล้วนทำให้รัสเซียสามารถใช้เป็นปัจจัยค้ำยันอำนาจต่อรองของตนกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยอ้อมนั่นเอง เสาหลักที่รัสเซียใช้มีอย่างน้อย 5 เสาหลัก ดังนี้

1.1 การผลิตและการค้า
เศรษฐกิจของรัสเซียเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปีนับจากปี 2542 จนทำให้รัสเซียมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจรวมถึงร้อยละ 65 เมื่อปีที่ผ่านมา แม้ว่าธุรกิจต่างๆ ของรัสเซียจะเติบโตขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ การค้าปลีก การกลั่นสุรา อาหารแปรรูป และสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค แต่ปัจจัยหลักเกิดจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัสเซียได้เงินจำนวนมหาศาลจากการเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก


นอกจากเงินมหาศาลที่ได้จากการผลิตและค้าน้ำมันแล้ว ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กัน การผลิตน้ำมันของรัสเซียเคยลดลงเป็นอย่างมากนับจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มผลิตมากขึ้นอีกครั้งจนเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุดิอาระเบียเมื่อปีที่แล้ว เมื่อผนวกเข้ากับแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ได้รับการยืนยันแล้วมีมากกว่าอิหร่านที่ตามมาเป็นลำดับ 2 ถึงเท่าตัว ทำให้รัสเซียเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านพลังงานมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ทั้งกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ต่างก็ต้องพึ่งพารัสเซียในด้านพลังงานทั้งสิ้น

ความหวั่นเกรงของสหรัฐฯ ที่มีต่อรัสเซียในด้านพลังงานนั้น เห็นได้อย่างชัดเจนจากคำกล่าวของนาย Dick Cheney ที่ต้องการให้รัสเซียหยุดการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเครื่องมือบีบบังคับและสร้างอำนาจต่อรองเหนือประเทศคู่ค้า

ในด้านการค้านั้น แม้ว่ารัสเซียจะยังมิได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก แต่การค้าของรัสเซียก็ขยายตัวในอัตราสูง โดยเฉพาะการค้ากับจีนซึ่งเป็นหอกข้างแคร่ของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 การค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีที่แล้วมูลค่าการค้าระหว่างรัสเซียกับจีนมีมูลค่าสูงถึง 29.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเป็นการเพิ่มอำนาจเชิงสัมพัทธ์ให้แก่รัสเซียในการเจรจาต่อรองกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ

1.2 การเงิน
รัฐบาลรัสเซียมีงบประมาณเกินดุลติดต่อกันมาแล้ว 6 ปี ทำให้สามารถตกลงจ่ายหนี้เร่งรัดการต่างประเทศก่อนกำหนดได้เป็นมูลค่ามหาศาล แม้ว่าการใช้หนี้ดังกล่าวอาจมิได้เพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่รัสเซียโดยตรง แต่ถ้าคิดในมุมกลับจะพบว่า การที่รัสเซียสามารถใช้หนี้ได้ เท่ากับเป็นการลดปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของประเทศเจ้าหนี้ลงได้


1.3 ความรู้และเทคโนโลยี
ความรู้และเทคโนโลยีของรัสเซียที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามเย็นประการหนึ่ง คือ ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังคงต้องพึ่งพาแร่ยูเรเนียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญจากรัสเซียเป็นหลัก โดยนำเข้ายูเรเนียมเข้มข้นและยูเรเนียมปรับสภาพจากรัสเซียร้อยละ 55 และ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด ความได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบของรัสเซียเอื้ออำนวยให้มีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี และสร้างอำนาจต่อรองในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์เป็นอย่างมาก
ในการประชุมผู้นำ G8 ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียบรรลุข้อตกลงในการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ ตามแผนงานดังกล่าว ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นที่ 4 ตั้งศูนย์เพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียม และธนาคารเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (International Atomic Energy Agency: IAEA) ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศทำให้ควบคุมเทคโนโลยี ตลอดจนอาวุธนิวเคลียร์มิให้ถึงมือกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ในทางหนึ่งรัสเซียสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่ในอีกทางหนึ่ง รัสเซียยื่นข้อเสนอให้อิหร่านสามารถพัฒนาการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ในรัสเซียได้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาของประเทศอื่นๆ ที่มองว่า อิหร่านกำลังลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ พึงพอใจกับท่าทีของรัสเซียในการยื่นความช่วยเหลือดังกล่าว แต่ก็ย่อมทำให้รัสเซียมีอำนาจต่อรองมากขึ้นตามไปด้วย


1.4 กองทัพ
เสาหลักด้านกองทัพมิได้เป็นประเด็นที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดดังเช่นในยุคสงครามเย็น แต่ใช่ว่าอำนาจทางการทหารของรัสเซียจะหมดไป นอกเหนือจากศักยภาพในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์แล้ว รัสเซียยังคงมีการซ้อมรบร่วมกับจีนที่มิได้ยอมอ่อนข้อต่อสหรัฐฯ ซึ่งหากเราเชื่อว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” การซ้อมรบร่วมกันระหว่างรัสเซียและจีน ย่อมสร้างความกังวลต่อสหรัฐฯ โดยมิต้องสงสัย
การพัฒนาการผลิตอาวุธและอำนาจทางกองทัพของรัสเซียยังเกิดขึ้นโดยอ้อม ผ่านการขายอาวุธให้ประเทศต่างๆ รวมถึงลูกค้ารายใหญ่เช่นจีน ซึ่งยังคงต้องการเทคโนโลยีอาวุธที่ทันสมัยที่สุดจากรัสเซีย นอกจากนี้ รัสเซียยังตกลงขายอาวุธให้ซีเรีย และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขายอาวุธให้แก่กลุ่มฮามาส เมื่อรัฐบาลรัสเซียเชิญผู้นำกลุ่มฮามาสที่สหรัฐฯ ขึ้นชื่อไว้ในบัญชีดำมาเยือนรัสเซียภายหลังจากการชนะการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ เสาหลักทางกองทัพที่เข้มแข็ง หยั่งรากลึก และแผ่อิทธิพลไปรอบด้านย่อมเป็นสิ่งที่ประเทศมหาอำนาจทุกประเทศจำเป็นต้องจับตามองด้วยความระมัดระวัง


1.5 การสื่อสาร
ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่เป็นหนามยอกอกของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯ ผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันในภูมิภาคนี้เป็นที่ต้องการของหลายๆ ประเทศ แต่ประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐฯ มิอาจสร้างความเชื่อใจแก่ประเทศตะวันออกกลางได้มากนัก รัสเซียใช้เสาหลักทางด้านการสื่อสารโดยสถานีโทรทัศน์ RIA Novosti ซึ่งเป็นกิจการของรัฐบาลรัสเซีย วางแผนการลงทุนสร้างช่องข่าวภาคภาษาอาหรับ การใช้เสาหลักทางด้านการสื่อสารดังกล่าวสามารถทำให้รัสเซียสามารถขยายอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง และถ่วงดุลการแผ่อำนาจเหนือภูมิภาคดังกล่าวของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ผ่านการสื่อสารอย่างได้ผล


2. พลังอำนาจในการต่อรอง
พลังอำนาจในการต่อรองในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ อำนาจเชิงสัมพัทธ์ (Relational Power) และอำนาจเชิงโครงสร้าง (Structural Power)


อำนาจเชิงสัมพัทธ์ เป็นอำนาจหรือความได้เปรียบที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งสามารถใช้ในการเจรจาต่อรองเพื่อบีบบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ต้องการ ขณะที่อำนาจเชิงโครงสร้าง เป็นอำนาจที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดโครงสร้างทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐหรือระดับโลก

พลังอำนาจในการต่อรองกับประเทศต่างๆ ของรัสเซียนั้นเข้าข่ายของอำนาจเชิงสัมพัทธ์มากกว่าอำนาจเชิงโครงสร้าง ทั้งนี้เนื่องจากรัสเซียใช้พลังอำนาจของตนในการต่อรอง กดดัน และบีบบังคับประเทศอื่นๆ มากกว่าจะใช้ในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประเทศนั้นๆ อำนาจเชิงสัมพัทธ์ดังกล่าวเกิดจากเสาหลักต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะเสาหลักด้านการผลิตและการค้า รัสเซียสามารถเปลี่ยนทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศให้กลายเป็นพลังอำนาจต่อรองอันทรงประสิทธิภาพ

ตัวอย่างของการใช้พลังงานเป็นอำนาจเชิงสัมพัทธ์ของรัสเซียมีหลายตัวอย่าง เช่น การขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติที่ส่งออกไปยังอดีตประเทศบริวารอย่างยูเครนถึงร้อยละ 400 เพื่อเป็นการ “สั่งสอน” ยูเครนที่ “ตีตัวออกห่าง” รัสเซียโดยการเข้าเป็นสมาชิก NATO ซึ่งจะทำให้พรมแดนรัสเซียถูกล้อมกรอบโดยประเทศสมาชิก NATO หรือการเลือกที่จะวางท่อส่งน้ำมันหลักไปยังนาค็อดนาเพื่อขายให้แก่ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐฯ แทนที่จะวางท่อส่งน้ำมันยาว 4,100 กิโลเมตรจากไซบีเรียไปยังจีนตามที่จีนต้องการ

อำนาจเชิงสัมพัทธ์ของรัสเซียสร้างอำนาจต่อรองให้รัสเซียในการเจรจากับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ โดยอ้อม โดยเป็นแรงหนุนให้รัสเซีย “เสียงดัง” ขึ้นมาในกลุ่ม G8 ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ประเทศมหาอำนาจเอง ก็ถูกรัสเซียใช้อำนาจเชิงสัมพัทธ์ด้วย เช่น ประเทศมหาอำนาจในยุโรปยังคงต้องนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียเป็นหลัก

อำนาจเชิงสัมพัทธ์ของรัสเซียนี้ ทำให้ประเทศมหาอำนาจที่ไม่พอใจท่าทีบางประการของรัสเซีย ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มปากนัก เช่น นาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางอย่างของนาย Putin แต่ก็ไม่สามารถตำหนิอย่างรุนแรงได้ ทั้งนี้เนื่องจากทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซียกับเยอรมนีมีความเกี่ยวพันกันอยู่มาก ตั้งแต่การที่รัสเซียไม่ขัดขวางการรวมชาติของเยอรมนีในปี 2532 รวมถึงการพึ่งพาทรัพยากรเชื้อเพลิงและการลงทุนของธุรกิจเยอรมนีในรัสเซียในปัจจุบัน หากเกิดปัญหาขึ้นกับรัสเซีย ย่อมทำให้เยอรมนีต้องพลอยกระทบกระเทือนไปด้วย

3. ประโยชน์เชิงปฏิสัมพันธ์ที่รัสเซียได้รับ
รัสเซียต้องการอะไรจากการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ? อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลมอสโกน่าจะต้องการคานอำนาจของรัฐบาลวอชิงตัน โดยสร้างขั้วอำนาจขึ้นถ่วงดุลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดี Jacques Chirac ต้องการแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ


รัสเซียถูกประเทศมหาอำนาจอื่นๆ โจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องการบริหารประเทศที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ของนาย Putin โดยการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้สภาผู้แทนราษฎร หรือ ดูมา เป็นแค่สภาตรายาง รวมถึงเรื่องเสรีภาพของทั้งสื่อและประชาชน ขณะที่ในทางเศรษฐกิจนั้น ประธานาธิบดีรัสเซียยึดกิจการสำคัญๆ ที่เคยแปรรูปเป็นของเอกชน กลับมาเป็นกิจการของรัฐ รวมถึงบริษัทค้าน้ำมันยูคอส โดยปัจจุบัน บริษัทในความควบคุมของรัฐบาลรัสเซียมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประเด็นอื่นๆ เช่น การคอร์รัปชั่น ที่รัสเซียมีความโปร่งใสในลำดับที่ 106 จาก 117 ประเทศ หรือการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินที่รัสเซียอยู่ในลำดับที่ 108 ย่อมสร้างความไม่พึงพอใจจากประเทศสมาชิกกลุ่ม G8

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การใช้อำนาจเชิงสัมพัทธ์ผ่านความเข้มแข็งของเสาหลักของรัสเซียนั้น ทำให้รัสเซียค่อยๆ กลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ดังเช่นที่เคยเป็นในสมัยสหภาพโซเวียตมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัสเซีย ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนเกาหลีเหนือ และบางประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อ “งัดข้อ” กับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า อาจก่อให้เกิดสงครามเย็นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้.

Tuesday, May 02, 2006

เมื่อเรารักกัน

เมื่อเรารักกัน
เราต่างจับมือข้างหนึ่งของกันและกันไว้
เพราะความรักเปรียบเสมือนการเดินจูงมือ
เป็นความยินยอมพร้อมใจที่จะดูแลมือข้างหนึ่ง
ครึ่งหนึ่งของชีวิตคนที่ร่วมทางไปกับเรา
และความไว้ใจ ที่จะให้อีกคนดูแลมือข้างหนึ่ง
ครึ่งหนึ่งของชีวิตเราเช่นกัน

เมื่อเรารักกัน
เราต่างจับมือข้างหนึ่งของกันและกันไว้
แทนคำสัญญามากมายร้อยพัน
ว่าเราจะอยู่เคียงข้างกัน
เมื่อเราเดินจับมือกัน เราต่างเดินเคียงข้างกันไป
ไม่ต้องมีใครนำหน้า และไม่ต้องมีใครตามหลัง

เมื่อเรารักกัน
เราต่างจับมือข้างหนึ่งของกันและกันไว้
ต่างคนต่างได้สัมผัสอันอบอุ่นจากอุ้งมือของอีกฝ่าย
มือที่จับกันไว้
ทำให้เรารู้ว่า เรามีกันและกัน
แต่เรายังเหลือมืออีกข้าง
เพื่อจะทำสิ่งต่างๆ มากมายที่ชีวิตเราจำเป็นต้องทำ

เมื่อเรารักกัน
เราต่างจับมือข้างหนึ่งของกันและกันไว้
ไม่จำเป็นต้องเกาะกุมมือทั้งสองข้าง
เพราะเมื่อเราพลาดพลั้งล้มลง
จะไม่มีใครเหลือมือเพื่อยันกายลุกขึ้น
และฉุดดึงเราทั้งสองขึ้นมาได้

เมื่อเรารักกัน
เราต่างจับมือข้างหนึ่งของกันและกันไว้…

Wednesday, April 26, 2006

adieu Zizou!


ไข่มุกดำ เปเล่ เคยทำนายไว้ก่อนการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปปี 1996 ที่อังกฤษว่า ขอให้จับตาดูกองกลางทีมชาติฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า Zinedine Zidane ให้ดี เพราะมิดฟิลด์เจ้าของฉายา "พลาตินี่ 2" จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่โลกลูกหนังอย่างแน่นอน

เปเล่ทายไม่ถูก เพราะบอลยูโรปีนั้น ซีดานและพลพรรคทีมตราไก่ตกรอบรองชนะเลิศอย่างน่าเสียดาย และซีดานก็มิได้โชว์ฟอร์มการเล่นที่เปล่งประกายใดๆ มากนัก แต่เปเล่ก็มิได้ทายผิด เพราะสองปีหลังจากนั้น ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส โลกก็ได้รับรู้ว่า ราชันลูกหนังคนใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

ถ้าสองประตูในนัดชิงชนะเลิศกับบราซิลเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานบทใหม่ การพาทีมคว้าแชมป์ยูโรปี 2000 ก็เป็นตำนานบทต่อมาที่น่าประทับใจไม่แพ้กัน ในขณะที่ การตกรอบแรกในฟุตบอลโลกปี 2002 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นเด่นชัดว่า "ตำนานที่ยังมีชีวิต" คนนี้มีความสำคัญต่อทีมชาติฝรั่งเศสมากเพียงใด

แชมป์กัลโช่เซเรีย อา 2 ครั้งกับยูเวนตุส แชมป์ลา ลีกา 1 ครั้งกับ รีล มาดริด บวกกับประตูสุดสวยในนัดชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปี้ยนลีกที่ทำให้ราชันชุดขาวชนะไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่นเมื่อปี 2002 ย่อมเป็นเครื่องรับประกันคุณภาพฝีเท้าของวาทยกรลูกหนังคนนี้ได้เป็นอย่างดี

ครั้งหนึ่ง โลกลูกหนังเคยสยบลงอยู่แทบเท้าของจอมทัพทีมชาติฝรั่งเศส แต่หลังจากบอลโลกปีนี้ ภาพเช่นนั้นคงเป็นเพียงอดีต

adieu Zizou!

Zinedine Zideane - Honours
With the French national team:
FIFA World Cup Winner: 1998
European Championship Winner: 2000
With Juventus:
European Super Cup: 1996
Intercontinental Cup: 1996
Serie A champions: 1996/1997, 1997/1998
Italian Super Cup: 1997
With Real Madrid
UEFA Champions League: 2001/2002
Intercontinental Cup: 2002
Spanish League - La Liga champions: 2002/2003
Personal honours:
FIFA World Player of the Year: 1998, 2000, 2003
European Footballer of the Year (Ballon d'Or): 1998

Thursday, April 20, 2006

Thailand-Australia FTA

ข้อตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย: รายงานและบทวิเคราะห์

http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/PubData/12_ThaiAusFTAs.pdf


ลองเข้าไปอ่านดูได้นะครับ

Wednesday, April 05, 2006

จาก ซาอิ ถึง แอร์ดิช: เกมของพระผู้เป็นเจ้า

-1-

ฟูจิวาระ โนะ ซาอิ หรือ ซาอิ เป็นตัวละครหลักในการ์ตูนเรื่อง “ฮิคารุเซียนโกะ เกมอัจฉริยะ” (Hikaru-No Go) ซาอิและตัวละครอื่นๆ ในเรื่องล้วนแล้วแต่เล่นโกะเพื่อพัฒนาไปสู่ ‘หัตถ์เทวะ’ หรือการเป็นผู้ที่มีฝีมือในเชิงโกะระดับเทพเจ้า ซาอิอยู่บนหนทางดังกล่าวตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิตอยู่ จนแม้กระทั่งเป็นวิญญาณก็ยังคงต้องการไปให้ถึงขั้นหัตถ์เทวะโดยการเข้าสิงร่างของฮงอินโบ ชูซาคุ (นักเล่นโกะระดับประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นซึ่งมีตัวตนจริง) เพื่อให้ได้เล่นโกะต่อไป เมื่อชูซาคุเสียชีวิตลง ซาอิก็สิงอยู่ในกระดานโกะจนกระทั่งได้เจอกับฮิคารุซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง และทำให้ฮิคารุเดินเข้าสูวิถีแห่งโกะเช่นเดียวกัน

“เมื่อ 140 ปีก่อน โทราจิโร่ (ชูซาคุ) ให้ข้ายืมร่าง
ถ้าโทราจิโร่อยู่เพื่อข้าละก็ ข้าก็คงอยู่เพื่อฮิคารุ
ถ้างั้นฮิคารุเอง ก็คงอยู่เพื่อใครสักคน
และใครคนนั้นก็คง อยู่เพื่อใครอื่นอีกสักคน
กาลเวลาพันปี สองพันปี เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
บนเส้นทางสู่หัตถ์เทวะอันแสนไกล
หน้าที่ของข้าจบลงแล้ว”

ความคิดสุดท้ายของซาอิก่อนหายไป ตรงกับแนวคิดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในเรื่องว่า นักเล่นโกะอาจล้วนแล้วแต่อยู่ในแผนการของ ‘เทพแห่งโกะ’ ในการสร้างคู่เล่นที่ทัดเทียมขึ้นมา


คนที่เล่นโกะแต่ละคนมุ่งหน้าไปสู่หัตถ์เทวะตามความต้องการของตัวเอง หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการหาคู่เล่นโกะของเทพเจ้า?

-2-

หลายต่อหลายคนคงรู้จักพอล แอร์ดิช (Paul Erdős) โดยเฉพาะผู้ที่เคยอ่านหนังสือ “ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข” (The Man Who Loved Only Numbers) แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จัก พอล แอร์ดิช คือ นักคณิตศาสตร์เชื้อสายฮังกาเรี่ยน ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ไอน์สไตน์แห่งวงการคณิตศาสตร์”

ในทรรศนะของแอร์ดิช พระเจ้า (หรือ ท่าน ผ.ส. (เผด็จการฟาสซิสต์สูงสุด) ตามที่แอร์ดิชชอบเรียก) มีคัมภีร์ทรานส์ฟินิตี้ (Transfinity) ที่รวมบทพิสูจน์ของสมมติฐานทั้งหมด โดยเป็นบทพิสูจน์ที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุด แต่ ‘ท่านผ.ส.’ มักจะแกล้งอุบคำตอบสำคัญๆ ไว้เพียงผู้เดียว ดังนั้น หน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ก็คือ ตั้งสมมติฐานและพิสูจน์ แอร์ดิชเคยกล่าวไว้ว่า “คณิตศาสตร์คือหนทางที่แท้จริงสู่ความเป็นอมตะ ถ้าคุณค้นพบความจริงที่ยิ่งใหญ่ทางคณิตศาสตร์ คุณจะได้รับการจดจำตลอดไป ขณะที่คนอื่นๆ ถูกลืม”

การตั้งและพิสูจน์ทฤษฎีบททางคณิตศาสตร์ คือหนทางสู่ความจริงอันยิ่งใหญ่ หรือเป็นเพียงเกมของพระผู้เป็นเจ้า?

-3-

นับตั้งแต่มนุษย์เกิดขึ้นมาในโลก มีการตั้งคำถามมากมายที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้แน่ชัด เช่น มนุษย์เกิดขึ้นมาทำไม? มีสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติจริงหรือไม่? พระเจ้ามีจริงหรือไม่? ความจริงสัมบูรณ์ (Absolute Truth) มีจริงหรือไม่? ถ้ามีจริง ความจริงสัมบูรณ์คืออะไร?

มนุษย์อาจดำรงเผ่าพันธุ์ สืบทอดแต่ละช่วงอายุคนต่อมาเรื่อยๆ เพื่อตอบคำถามที่ตนเองสงสัยเหล่านี้ หรืออาจมีชีวิตอยู่ เพียงเพื่อแก้ปริศนาที่พระเจ้าทิ้งไว้ให้มนุษย์พยายามหาคำตอบ

มนุษย์เป็นนายเหนือชีวิตตนเอง หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในเกมไขปริศนาของพระผู้เป็นเจ้า?